เมื่อวันที่ 20 และ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท เนเวอร์ คลาวด์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (Naver Cloud Corp.,) ผู้ให้บริการระบบคลาวด์ (Cloud Service Provider หรือ CSP) จากเกาหลีใต้ ร่วมมือกับโรงพยาบาลพระรามเก้า ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากซับซ้อน และการดูแลสุขภาพก่อนป่วยมากว่า 31 ปี พร้อมกับโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยกว่า 7 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น BBH Hospital, โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่, กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง, โรงพบาบาลนวเวช จัดงานสัมมนา “เทคโนโลยีอัจฉริยะด้านสุขภาพที่ล้ำหน้าสู่อนาคต และความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในทางการแพทย์ ระหว่างไทย-เกาหลี (Digital Healthcare Transformation Conference หรือ DHTC BANGKOK 2023)” ณ ห้องประชุม Grand Hall ชั้น 5อาคาร A โรงพยาบาลพระรามเก้า
สำหรับงานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงจากประเทศเกาหลี และประเทศไทยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย ภายในงานมีการแสดงการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อาทิ การนำเสนอบทบาทของ AI ในการรักษา เช่น การใช้ AI ทำนายโรคจากข้อมูลทางพันธุกรรม หรือการใช้ AI ช่วยในการแปลงภาพทางการแพทย์ เป็นต้น ทั้งยังจัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ของสาธารณสุข ของประเทศไทยต่อไปในอนาคต พร้อมร่วมฉายภาพความคืบหน้า การริเริ่มการบริการทางการแพทย์ระยะไกลผ่าน Line Messenger ของไทย พลิกโฉมการบริการ สู่ผู้นำศูนย์การแพทย์ดิจิทัล และบริการแพทย์ระยะไกล ผสานเทคโนโลยี AI มาใช้ในการแพทย์ พร้อมเตรียมขยายความก้าวหน้าสู่ต่างประเทศ มีการนำเสนอผลการทดลองใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ทางโรงพยาบาลได้ร่วมพัฒนากับบริษัทของประเทศเกาหลีอีกด้วย
นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวถึงการร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจกันระหว่างโรงพยาบาลพระรามเก้า และ Naver Cloud ว่า ทาง Naver Cloud เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ คล้ายกับ Amazon Web Services ไม่เพียงแต่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ แต่ยังในการพัฒนาเทคโนโลยีไอทีขั้นสูงเช่น AI ขนาดใหญ่พิเศษ โดยทาง Naver Cloud ได้ก้าวเข้าสู่ประเทศไทยผ่านการสนับสนุนการขยายตัวในต่างประเทศโดยรัฐบาลเกาหลี อีกทั้งยังได้เชิญบริษัทเทคโนโลยี AI ทางการแพทย์อื่นๆเข้าสู่ตลาดด้วย ทำให้เริ่มมีการติดต่อกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในไทย ด้วยเหตุนี้ การที่เรามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในด้านการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัล เราจึงกลายมาเป็นหุ้นส่วนหลักกันอย่างสมบูรณ์
นายแพทย์วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพระรามเก้า เสริมต่อว่า ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลของเราเท่านั้น แต่โรงพยาบาลอื่นๆ ก็ได้มีโอกาสพบกับบริษัทเกาหลีที่โดดเด่นหลายบริษัท เพื่อพัฒนา และปรับปรุงการบริการให้กับลูกค้าชาวไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลของเราได้จับมือกับบริษัท Life Semantics จากประเทศเกาหลี สร้างเวทีในการริเริ่มการบริการทางการแพทย์ระยะไกลผ่าน Line Messenger ของไทย ซึ่งนี่คือการพัฒนาที่สำคัญสำหรับตลาดบริการทางการแพทย์ระยะไกลครับ
และรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันและที่ปรึกษาศูนย์โรงพยาบาลออนไลน์ โรงพยาบาลพระรามเก้า หรือ Praram9V กล่าวปิดท้ายถึงความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่างไทยและเกาหลี รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคตว่า มีความเป็นไปได้อย่างแน่นอนที่จะมีการขยายตลาด เพราะทั้งเกาหลีและไทยต่างก็ได้เติมเต็มซึ่งกันและกัน ในหลายๆ ด้านแล้ว และความร่วมมือของเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น เรายังสามารถขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศพม่า และเวียดนาม เป็นต้น โดยข้อตกลงธุรกิจร่วมกันสำหรับบริการตรวจ DNA ได้รับการลงนามภายในงานนี้ และเรากำลังเตรียมการขยายไปในต่างประเทศ ซึ่งนี่จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับโรงพยาบาลในไทยด้วย